การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด
การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด เมื่อถูกงูกัด ให้สังเกตว่า งูที่กัดนั้นมีพิษหรือไม่ โดยสังเกตที่รอยเขี้ยว ถ้ามีลักษณะ ฟันเรียงกัน แสดงว่าเป็นงูไม่มีพิษ ถ้าลักษณะเขี้ยวเป็นสองเขี้ยวมองเห็นได้ชัดเจน และบริเวณรอบๆรอยเขี้ยวจะมีสีคล้ำ แสดงว่า เป็นงูที่มีพิษ
พิษของงูที่ส่งผลต่อร่างกายแบ่งคร่าวๆได้ 3 แบบดังนี้
- พิษงูที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น งูเขียวห้างไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ อาการคือ ปวดแผลมาก และมีเลือดซึมออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด เกิดจากระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว และตายในที่สุด
- พิษงูที่ทำให้เกิดอัมพาตยับยั้งการทำงานของระบบปราสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา อาการ เริ่มจากแขนขาไม่มีแรง ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด
- พิษงูที่ทำให้เกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้ออย่างรุนแรง เช่น งูทะเล
สิ่งที่ควรระวังใน การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด คือไม่ว่าจะโดนงูชนิดใดกัด ให้พยามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันหัวใจเต้นเร็ว ป้องกันไม่ให้พิษงูสูบฉีดเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น
ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด ทำได้ดังนี้
- ให้ผู้ที่ถูกงูกัดนอนลง จัดให้มือหรือเท้าที่ถูกกัดอยู่ระดับเดียวหรือต่ำกว่าระดับหัวใจ ทำการปลอบใจไม่ให้ตื่นตกใจ และพยายามให้ผู้ที่ถูกงูกัดอยู่นิ่งๆ หรือให้เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และน้ำสบู่ ไม่ควรใช้ยาสีฟัน หรือสมุนไพรใดๆ ทาบริเวณแผล
- บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุด โดยห้ามใช้ปากดูดบริเวณปากแผล และห้ามใช้ของมีคมเปิดบาดแผล
- รัดบริเวณใต้และเหนือแผล ห่างจากแผล ประมาณ 3 นิ้วมือ บริเวณเหนือบาดแผล ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือด และเน่าตายได้ ควรคลายความแน่นพอสอดนิ้วได้ 1 นิ้ว การรัดเหนือแผลเพื่อให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง ไม่ได้เป็นการรัดเพื่อห้ามพิษวิ่งเข้าสู่หัวใจแต่อย่างใด
- ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือด โดยการกดบริเวณแผลโดยตรง ใช้แอลกอฮอล์หรือเบตาดีนทาแผล เพื่อทำลายเชื้อโรค
- ให้รับประทานยาแก้ปวด หากรู้สึกปวดแผล แต่ห้ามใช้ยาระงับประสาท
- ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และให้ระลึกอยู่เสมอว่า งูทุกตัวที่กัดเป็นงูมีพิษ
การรักษาแผลงูกัด
ฉีดเซรุ่มแก้พิษ หากทราบชนิดของงูที่กัด และเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้ หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้เซรุ่ม แพทย์จะให้อะดรีนาลีนสำหรับรักษาภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการป่วยอื่น ๆ ภายใน 5-10 วัน โดยจะมีไข้ ปวดข้อต่อ ระคายเคือง ต่อมน้ำเหลืองบวม และเมื่อยล้า
สำหรับผู้ที่ไม่ทราบชนิดของงูที่กัด จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อสังเกตอาการ เพื่อหาว่าโดนงูชนิดใดกัด เนื่องจากเซรุ่มแก้พิษงูจะใช้รักษาตามชนิดของงูที่กัด โดยแพทย์จะนัดตรวจสำหรับติดตามอาการ บางคนอาจต้องนอนพักที่โรงพยาล เนื่องจากอาการอาจรุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
การดูแลแผลงูกัด
ดูแลแผลงูกัด แพทย์จะถอนเขี้ยวงูที่ฝังอยู่ออกมา ทำความสะอาดแผล ให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล รวมทั้งให้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาจากประวัติการรักษาและความรุนแรงของบาดแผล หากเคยได้รับวัคซีนครบจำนวนเป็นเวลามากกว่า 10 ปี หรือได้รับวัคซีนเป็นเวลามากกว่า 5 ปี และบาดแผลสกปรกมาก ควรรับวัคซีนบาดทะยักอีกครั้ง
อาจจะต้องมีการผ่าตัด ในกรณีที่ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงขึ้น โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดผิวหนังบริเวณที่เกิดความดันในช่องกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาแรงดันและอาการบวมที่แขนและขาของผู้ป่วย หลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยต้องพักฟื้นร่างกาย ซึ่งใช้เวลาแตกต่างกันไปตามชนิดงูที่กัด ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่มักใช้เวลาพักฟื้น 3 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนเด็กใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการบวมและปวดแผลระหว่างพักฟื้นร่างกาย จึงต้องรับประทานยาแก้ปวดและเคลื่อนไหวแขนและขาอยู่เสมอ เพื่อระงับอาการดังกล่าว
ภาวะแทรกซ้อนจากงูกัด
ผู้ที่ถูกงูมีพิษกัดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยจะปรากฏอาการตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงขั้นรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนจากงูมีพิษกัด มีดังนี้
- ปวดและบวมบริเวณที่ถูกกัด
- มองเห็นผิดปกติ พิษงูจะทำลายเส้นประสาทบริเวณหนังตา ทำให้หนังตาตกและการมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม
- ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง บริเวณที่ถูกงูกัดจะบวมขึ้นอย่างรุนแรง จะทำลายเส้นประสาทและหลอดเลือดได้ ทำให้กล้ามเนื้อตาย
- แผลติดเชื้อ
- สูญเสียแขนและขา
- ประสบภาวะเนื้อตายเน่า
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- เลือดออกภายในร่างกาย
- หัวใจถูกทำลาย
- หายใจไม่สะดวก
- ไตวาย โดยงูบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น งูแมวเซา เป็นต้น
- เสียชีวิต
ลักษณะอาการเมื่อโดนงูไม่มีพิษกัด
ถ้าหากโดนงูไม่มีพิษกัด ลักษณะคือ จะเป็นแค่รอยถลอกหรือรอยถากเท่านั้น จะไม่พบรอยเขี้ยว
งูไม่มีพิษ เช่น งูก้นขบ งูแสงอาทิตย์ งูปี่แก้ว งูเขียวปากจิ้งจก งูลายสาบ งูลายสอ งูงอด งูเหลือม และงูหลาม อย่างไรก็ดี ผู้ที่ถูกงูไม่มีพิษกัดควรเข้ารับการรักษาทันที วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถทำได้เหมือนการดดนแผลถลอกทั่วไป
วิธีปฐมพยาบาลงูไม่มีพิษกัด
- ทำการห้ามเลือด โดยใช้ผ้าหรือมือกดไว้
- ล้างแผลด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาล้างแผลสด เบตาดีน
- ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเพิ่มเติม บางรายอาจจะต้องมีการ ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
การป้องกันงูกัด
ผู้ที่ถูกงูกัด ไม่ว่าจะมีพิษหรือไม่มีพิษ ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ อันเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ การป้องกันงูกัดทำได้ ดังนี้
- เลี่ยงบริเวณที่อับ มืด หรือรก ซึ่งอาจมีงูหรือสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายซ่อนตัวอยู่
- ควรสวมรองเท้าและเสื้อผ้าที่มิดชิดรัดกุมในกรณีที่ต้องเข้าไปในบริเวณที่รกครึ้ม
- ห้ามจับหรือแหย่งู ไม่ว่าจะเป็นงูที่มีหรือไม่มีพิษ
- ไม่ควรทำให้งูตกใจ เนื่องจากอาจทำให้งูกัดได้
- ไม่ล้วงมือลงไปในรูหรือช่องที่มองไม่เห็นข้างใน หากต้องหยิบของที่ตกลงไป ควรหาไม้ยาว ๆ เขี่ยออกมาแทน
- ควรยืนนิ่ง ๆ เมื่อเจองูในระยะใกล้ เนื่องจากงูจะฉกและกัดหากเคลื่อนไหว
- ควรพกอุปกรณ์ทำแผลหรือยาต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดกรด หรือยาหม่อง รวมทั้งศึกษาข้อมูลติดต่อรถพยาบาลฉุกเฉินหากต้องเดินทางไปเที่ยวในที่ที่เสี่ยงเจองูชุกชุม
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัดหรือต้องการเรียนรู้ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเจ็บป่วยอื่นท่านสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้ด้านทฤษฎีเพิ่มเติม และได้การฝึกปฏิบัติจริงด้วย